ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะ ความเป็นเลิศที่ยั่งยืนสู่ชุมชน (CMU Smart City)
........มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการก่อรูปการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในช่วงปี 2013-2015 จากความมุ่งมั่น (Commitment) สู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (A World-class/Leading University) และมหาวิทยาลัยอัจฉริยะหรือมหาวิทยาลัยดิจิทัล (Smart or Digital University) เพื่อดำเนินตามพันธกิจต่าง ๆ (Missions) ในช่วงระหว่างการจัดทำแผนแม่บทฉบับที่ 12 (แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยระยะที่ 12) ซึ่งผู้บริหารระดับสูงสุดอย่างอธิการบดีนิเวศน์ นันทจิต ได้มีวิสัยทัศน์ (Visions) และกรอบแนวคิดที่จะทำการพัฒนาสมาร์ต ซิตี้และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนามหาวิทยาลัย และริเริ่มทีมผู้บริหารและร่างแผนแม่บทชุดใหม่ในระหว่างแผนแม่บทฉบับที่ 11 กำลังสิ้นสุดลง ซึ่งต้องการให้เ้กิดแผนแม่บทที่มีประสิทธิภาพในความเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและริเริ่มผังแม่บทในการพัฒนามหาวิทยาลัยอัจฉริยะขึ้น[1][10] ในปี 2016-2017 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เข้าร่วมประกวดในโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities - Green and Clean Energy) โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และมูลนิธิอาคารเขียวไทยจัดขึ้น จึงริเริ่มเป็นโครงการ "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด (CMU Smart City - Green and Clean Energy/University)" หนึ่งในหลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือ การบังคับให้มีการจัดผังแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่นำไปใช้จริงในมหาวิทยาลัย[2] ในผังแม่บทต้องจัดให้มีการพัฒนา 8 ตัวชี้วัดได้แก่ Smart Environment, Smart Mobility, Smart Energy, Smart Community, Smart Governance, Smart Economy, Smart Innovation และ Smart Building[1] ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Chiang Mai University: CMU, มช.) มีการพัฒนาวาระเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นทางการโดยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระยะที่ 12 นับแต่แผนแม่บทฉบับที่ 12 เกิดขึ้น พร้อมกับจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการมหาวิทยาลัย (Campus Management Center)[3]
........ต่อมานโยบายสมาร์ต ซิตี้หรือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย (Urban Development Public Policy: Smart City, Thailand) ได้เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2017 ในเดือนตุลาคม ภายใต้กรอบของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและนโยบายประเทศไทย 4.0 ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 267/2017 ต้องการกระจายความเจริญจากเมืองเอกนครกรุงเทพและปริมณฆลมณฑลไปสู่ทุกเมือง ลดความเหลื่อมล้ำบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานในด้าน การคมนาคม พลังงาน ดิจิทัลเข้าหากันเพื่อสร้างเมืองที่น่าอยู่และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เมืองและประชาชนทั่วประเทศไทย[*4] สมาร์ต ซิตี้หรือเมืองอัจฉริยะ’ ถูกเสนอครั้งแรกในประเทศไทยมาจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร[*13] และกล่าวถึงอีกครั้งสำหรับการยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนท้องถิ่นและสนับสนุนรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (Smart Government) มีเป้าหมายการส่งมอบบริการสารสนเทศไปสู่ประชาชน (Smart Services)[5] สอดคล้องกับมีการอ้างว่านโยบายสมาร์ต ซิตี้ ได้มีการแปลงจากการให้บริการจังหวัดอัจฉริยะของประเทศไทย (Smart Province) ในปี 2013 ซึ่งมิได้มีการยุติแต่ได้มีการแปลงไปสู่นโยบายสมาร์ต ซิตี้[5]
........ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้เข้าร่วมกับนโยบายและรับนโยบายมาปฏิบัติในปี 2019 และได้รับพิจารณาคัดเลือกให้เป็นเมืองในเขตส่งเสริมอัจฉริยะ[6] อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยมีความตั้งใจที่จะพัฒนาตนเองไปสู่มหาวิทยาลัยอัจฉริยะตั้งแต่แรกอยู่แล้ว จากที่ได้พัฒนาตนเองไปสู่สมาร์ต ซิตี้ตั้งแต่ก่อนนโยบายสมาร์ต ซิตี้จะเกิดขึ้น ดังนั้นการเข้าร่วมกับนโยบายจึงเป็นเสมือนผลพลอยได้และเป็นความบังเอิญที่พอเหมาะพอดี ที่มหาวิทยาลัยได้รับประโยชน์ ซึ่งการเข้าร่วมกับนโยบายก็เป็นผลดีต่อการปรับอิงเข้ากับกรอบแนนวคิดเมืองอัจฉริยะที่มีความเป็นสากลมากขึ้น[10] เพราะจากเดิมสมาร์ต ซิตี้ที่มหาวิทยาลัยยึดถือคือแนวคิดหลากหลายตัวชี้วัดตั้งแต่ Smart Growth, TREES Platinum จนมาสู่แนวคิดของความยั่งยืน (Sustaunable Developemnt) และเมืองอัจฉริยะจากตัวนโยบายในปัจจุบัน (Smart City Concepts) และได้ยกเอาโครงการ CMU Smart Cities - Green and Clean University และผังแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้ง 8 ตัวชี้วัดมาปรับให้เข้ากับกรอบของนโยบายสมาร์ต ซิตี้[1] โดยการยื่นข้อเสนอเข้าร่วมนโยบายของมหาวิทยาลัยเป็นครบตามคุณสมบัติทั้ง 5 หลักเกณฑ์ ตามวิสัยทัศน์ เป้าหมายของเมืองอัจฉริยะที่เขียนไว้ในข้อเสนอไว้ยื่นต่อสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในฐานะสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย เพื่อนำไปให้อนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะะพิจารณา
........ในสองปีถัดมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2021 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้รับการยกระดับจากเมืองในเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะเป็น “เมืองอัจฉริยะ” อย่างเป็นทางการโดยผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ภายใต้ชื่อโครงการว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะ ความเป็นเลิศที่ยั่งยืนสู่ชุมชน ดิจิทัล ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ “ประเภทเมืองเดิม” ภายใต้การจัดทำข้อเสนอในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ/ระบบบริการอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน (ประเภท) ได้แก่ 1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment), 2.การเดินทางและการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility), 3.พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People), 4. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living), 5.พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy), 6.เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) และ 7.การบริหารงานอัจฉริยะ (Smart Governance) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลายเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาแห่งแรกที่เป็นผู้พัฒนาเมืองอัจฉริยะ และเป็นเมืองอัจฉริยะ 1 ใน 15 เมืองอัจฉริยะแรกของประเทศไทยนำร่อง[7] และศูนย์บริหารจัดการมหาวิทยาลัยเดิม (Campus Management Center: CMC) ที่จัดตั้งในปี 2017[8] จึงได้เปลี่ยนมาศูนย์บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart Campus Management Center: SCMC) ตามแนวคิดในผังแม่บทการพัฒนาอัจฉริยะเพื่อให้เป็นศูนย์ Smart Controlและตอบสนองต่อนโยบายสมาร์ต ซิตี้
........โดยมีการกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อเป็น “ชุมชนแห่ง การเรียนรู้ชั้นนำ รับผิดชอบต่อสังคม และพัฒนาสู่ความเป็นเลิศที่ยั่งยืนตามแนวทาง SDGs ” (ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย)
........1. ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) มีเป้าหมายคือ เป้าประสงค์: สร้าง "สังคมปลอดขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม" โดยเน้นการจัดการทรัพยากรน้ำ การกำจัดขยะ คุณภาพอากาศ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจวัดปริมาณและคุณภาพน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำหลักของเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ อ่างแก้วและอ่างตาดชมพู พร้อมทั้งพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและระบบสำรองน้ำใช้ขนาด 4,000,000 ลิตรต่อวัน นอกจากนี้ จะมีการนำระบบบริหารจัดการน้ำประปาอัจฉริยะ (Smart Water Management) โดยใช้มิเตอร์อัจฉริยะ (smart meters) เพื่อลดการสูญเสียน้ำประปาในชุมชนลง 20 เปอร์เซ็นต์ต่อปี มุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจรที่ไม่มีของเสียเหลือทิ้ง (Zero-waste) และนำเทคโนโลยีถังขยะอัจฉริยะ (smart bin) ที่มีเซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณขยะและแจ้งเตือนรถเก็บขยะอัตโนมัติ มช. ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นเมืองสีเขียวสะอาด โดยมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์หรือพื้นที่สีเขียวต่อประชากรไม่ต่ำกว่า 22 ตารางเมตรต่อคน
........2. ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) มีเป้าหมาย คือ สร้าง "ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะและสังคมคาร์บอนต่ำ" โดยส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ก๊าซชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ และไบโอดีเซล ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตพลังงานทดแทนให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ของการใช้พลังงานทั้งหมดภายในปี 2029 เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงกว่า 10,900 ตันต่อปี นอกจากนี้ จะมีการนำระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) มาบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กในเมือง ติดตั้งซอฟต์แวร์อัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า และติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะ (smart meter) เพื่อติดตามการใช้ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ลดความต้องการไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูงสุดลดลงไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในชุมชนลง 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี พร้อมทั้งพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่และระบบกักเก็บเคมี ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า (จากการใช้พลังงานทดแทน) ลงไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์
........3.ด้านคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) มีเป้าหมาย คือ สร้าง "ระบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" เพื่อลดการใช้พลังงานและมลพิษในเมืองและชุมชนโดยรอบ โดยวางผังเมืองที่ส่งเสริมการเชื่อมต่อการเดินทางในระยะ 500 เมตร และเชื่อมโยงระบบขนส่งที่สะดวก ใช้รถขนส่งพลังงานไฟฟ้าและก๊าซชีวภาพอัด (CBG) ซึ่งช่วยลดมลพิษและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 217 ตันต่อปี นอกจากนี้ จะมีการบริหารจัดการการเดินทางด้วยป้ายข้อมูลอัจฉริยะ (Information Screen) และแอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถวางแผนการเดินทาง ลดเวลารอคอยที่สถานีลงไม่น้อยกว่า 7,000 นาทีต่อวัน ลดจำนวนรถขนส่งมวลชนที่วิ่งเปล่าลงไม่น้อยกว่า 100 เที่ยวต่อวัน (จาก 1,500 เที่ยวต่อวัน) และพัฒนาระบบจอดรถอัจฉริยะ (Smart Parking) ลดเวลาในการหาที่จอดรถลง 5 นาทีต่อคัน ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงลงไม่น้อยกว่า 5,000 ลิตรต่อวัน
........4.การพัฒนาด้านพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) มีเป้าหมาย คือ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจัดทำช่องทางการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong learning channel) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้แบบออนไลน์ตามวิถีชีวิตใหม่ มีระบบสะสมหน่วยกิตเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ โดยตั้งเป้าหมายให้ประชาชนเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัล (E-Learning) ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเป้าหมาย
........5.ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) มีเป้าหมาย คือ สร้างความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาด้านสังคม สุขภาพ และความปลอดภัย จัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชน (Health Hub) ศูนย์การแพทย์ทางเลือก และเครือข่ายคลินิกอัจฉริยะ (CMU Smart Clinic Network) เพื่อให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง มีระบบให้คำปรึกษาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างครบวงจร ลดเวลารอรับบริการลงไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพคุณภาพสูง 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี นอกจากนี้ จะติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยที่สามารถแจ้งเหตุฉุกเฉิน ติดตั้งกล้องวงจรปิดครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ตรวจสอบและเฝ้าระวังออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านศูนย์ควบคุมอัจฉริยะ (Smart Control System) และวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่แบบเรียลไทม์เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมส่งข้อมูลแจ้งเตือนทาง SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือ โดยตั้งเป้าหมายให้ประชากรไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เข้าถึงระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
........6.ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) มีเป้าหมาย คือ สร้างรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่และชุมชนโดยรอบ พัฒนาระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการชำระเงินผ่าน e-Wallet ในทุกจุดขายและบริการ สร้างระบบบริหารการศึกษาและการท่องเที่ยวอัจฉริยะ โดยตั้งเป้าหมายให้ระบบชำระเงินดิจิทัล (Digital payment system/Cashless society) ครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ และพัฒนาระบบข้อมูลการท่องเที่ยว (Smart Education and Tourism) เพื่อรองรับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ด้วยระบบ VR Guide และระบบ Indoor GPS ให้ผู้ประกอบการ/ธุรกิจสามารถนำข้อมูล เช่น การวิเคราะห์พฤติกรรมนักท่องเที่ยว ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจและเพิ่มรายได้ไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์
........7.ด้านบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) มีเป้าหมาย คือ สร้างระบบบริหารจัดการอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยพัฒนาช่องทางการมีส่วนร่วมของบุคลากรและชุมชน ได้แก่ ม.ไผ่ล้อม ม.ฝายหิน ม.อ่างแก้ว ม.เชิงดอย ม.ริมคลอง1-2 ม.สุเทพ 1-8 และ ม.คณะแพทย์ และชุมชนโดยรอบ เช่น ชุมชนห้วยแก้ว ชุมชนหน้า มช. ชุมชนอ่างแก้ว ชุมชนวัดประทานพร ชุมชนคลองชลประทาน ชุมชนสุเทพ ชุมชนศิริมังคลาจารย์และชุมชนนิมมานเหมินทร์ เพื่อสร้างความมั่นใจและการมีส่วนร่วมของบุคลากรและชุมชน จึงพัฒนาช่องทางการแสดงความคิดเห็นและข้อร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชัน CMU MOBILE เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและแสดงความคิดเห็นได้อย่างสะดวก ไม่น้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์[9]
........ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญในการดำเนินการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต่อเนื่องไปยังอนาคต ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมิได้เน้นย้ำให้ความสำคัญไปที่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นเป้าหมายหลัก รวมถึงบรรลุตามเป้าหมายนโยบายหรือได้รับรางวัลจากนโยบายเนื่องจากมีพันธกิจอื่นๆ แต่ใช้สมาร์ต ซิตี้ร่วมกับเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ เป็นเพียงเครื่องมือหรือเป็นผลพลอยได้หนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่นำมาประยุกต์ใช้ ทั้งนี้เพื่อนำมาตอบสนองต่อการดำเนินการในประจำวัน, Pain Points, ภารกิจของมหาวิทยาลัยต่างๆ หนึ่งในนั้นคือการรับผิดชอบและให้บริการด้านวิชาการให้แก่สังคม และยุทธศาสตร์เชิงรุกหลักประการหนึ่ง คือ นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้พัฒนาไปสู่ความยั่งยืน (Sustainable Development) ตามแผนแม่บทฉบับที่ 12-13 เพื่อนำมหาวิทยาลัยไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทต่อไป[10] ในปัจจุบันมีรูปแบบที่เรียกว่าการนั่งหัวโต๊ะหรือหัวโต๊ะลงมาเล่นเองคือ อธิการบดีคนปัจจุบันได้กระจายอำนาจมายังรองอธิการบดีต่างๆ ดูแลรับผิดชอบตามด้านที่ได้รับการมอบหมาย นั่งเป็นประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทที่เรียกว่า วาระการขับเคลื่อนยุทธศาตร์หรือ Agenda ซึ่งแตกออกมาจากแผนแม่บทฉบับที่ 13[11] โดยเฉพาะปัจจุบันในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยถูกกำหนดไว้จากแผนแม่บทฉบับที่ 13 แตกออกมาเป็น Agenda ที่ 2 และ ที่ 3 โดยมีรองอธิการบดีประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร ดูแลรับผิดชอบโดยนั่งเป็นประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การยกระดับสู่มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ Agenda ที่ 3 (Intelligence University) ความหมาย Intelligence University คือ การเป็นสมาร์ต ซิตี้ที่ถูกพัฒนาอย่างครอบคลุมรอบด้านที่สมบูรณ์เต็มที่และมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานอย่างครอบคลุม และการก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Carbon Neutral University) Agenda ที่ 2 โดยมี ศูนย์บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (SCMC) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนหลักด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะภายในมหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Energy Research and Development Institute Nakornping: ERDI CMU) เป็นหน่วยงานผู้ขับเคลื่อนหลัก และมีสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Information Technology Services Center: ITSC) เป็นหน่วยงานที่มีการปรับวิสัยทัศน์สู่ดูแลรับผิดชอบการพัฒนาและขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital University) ในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและไม่ใช่ภายภาพด้านเทคโนโลยดิจิทัล และมีหน่วยงานและคณะภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมสนับสนุน[12]
........มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงเป็นเมืองจำลองของชุมชนมหาวิทยาลัย ที่มีประชากรหลายหมื่นคน และเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่เป็นผู้พัฒนาเมืองอัจฉริยะนำร่องในนโยบายสมาร์ต ซิตี้ เพื่อทำให้เป็นแบบอย่างแก่สังคม ชุมชน และหน่วยงานภายนอกได้เห็นถึงการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง เพื่อนำไปใช้เป็นหนึ่งในพันธกิจของมหาวิทยาลัยในการให้บริการทางวิชาการมอบให้แก่สังคม และรับผิดชอบต่อสังคมตามวิสัยทัศน์ที่พัฒนาตนเองไปสู่ความยั่งยืน เมื่อมีการบริหารจัดการควบคุมมลภาวะ ของเสียที่เกิดขึ้นจากมหาวิทยาลัยเองและจัดการด้วยตนเองก่อนปล่อยสู่ชุมชน ร่วมกับการนำข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมภายในและนำมาวิเคราะห์กลายเป็น ข้อมูลแบบ Real-time และสารสนเทศ เพื่อนำมาบริหารจัดการทรัพยากรและพลังงานรวมถึงการบริหารงานภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด การคมนาคมสัญจรภายในองค์การ เมื่อสภาพแวดล้อมภายและความเป็นอยู่ภายในดีแล้วย่อมส่งผลกระทบต่อชุมชน ประชาชน สังคมและหน่วยงานภายนอกเองโดยปริยาย โดยกลุ่มเป้าหมายหลักในการพัฒนาสมาร์ต ซิตี้ คือ นักศึกษา และมหาวิทยาลัย ตามมาด้วยบุคลากรเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก และตามมาด้วยชุมชน ประชาชนและหน่วยงายภายนอก เป็นเป้าหมายรอง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพดี เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยืนยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อให้เกิดความสุขและความปลอดภัยของคนในเมืองอัจฉริยะ[13] มหาวิทยาลัยยังมุ่งมั่นไปสู่การเป็นที่ยอมรับในในการเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกต่อไป
REFERENCES
____________________________________________________
[2] บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับเส้นทางต้นแบบด้านพลังงานสะอาด (เว็บเพจ, ออนไลน์), (13 เม.ษ., 2023), https://bit.ly/3OSHWaz
[3] มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สรุปสาระสำคัญของแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (ค.ศ. 20170 – 2021), (กองแผนงาน, 2015) 9, https://planning.oou.cmu.ac.th/wp-content/uploads/2017/10/2017-10-02_07-10-12_-12-1760.pdf
[*4] *โปรดดูวรรคแรก และส่วนอำนาจหน้าที่ (2.1) จาก สำนักนายกรัฐมนตรี, คำสั่งที่ 267/2017 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ, (15 ต.ค. 2017), 1-2. https://bit.ly/3JlUowj
[5] นันทวันวงศ์ ขจรกิตติ, นโยบายการให้บริการจังหวัดอัจฉริยะของประเทศไทย, วารสารวิจัยและพัฒนาวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์, 11(3), (2016), 365 - 377.
[6] ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มช. รับรางวัลเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ งาน “Digital Thailand Big Bang 2019” (เว็บเพจ, ออนไลน์), (31 ต.ค., 2019), https://www.cmu.ac.th/th/article/af4cf9cb-bc7b-4359-b9b5-7006ce079795
[7] ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์, มช. รับมอบตราสัญลักษณ์ Smart City Thailand ได้รับรองเป็น “พื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะ” 1 ใน 15 เมืองอัจฉริยะของประเทศ (เว็บเพจ, ออนไลน์), (16 ธ.ค., 2023), https://www.cmu.ac.th/th/article/278e6bb1-5a60-4725-ad9a-22994693aa70
[8] ประกาศเกี่ยวกับการแบ่งหน่วยงาน ฉบับที่ 3 เรื่อง การแบ่งหน่วยงานในส่วนงานวิชาการและส่วนงานอื่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ เป็นหน่วยงานใหม่ในสำนักงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จาก สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รายงานผลการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัย ประจำปี 2560 (Annual Report 2017) (สำนักงานสภามหาวิทยาลัย, 2017), 57, https://council.cmu.ac.th/th/annual-report-2560/
[10] ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร, รองอธิการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สัมภาษณ์โดยผู้เขียน. 24 สิงหาคม 2023 เวลา 54 นาที (08.34 - 09.24น.).
[12] มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ประกาศแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ความเป็นกลางทางคาร์บอน และคำสั่ง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ การยกระดับสู่มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (กองแผนงาน, 2024), https://planning.oou.cmu.ac.th/wp-content/uploads/2024/04/2024-04-01_09-10-23_--a2.pdf, https://planning.oou.cmu.ac.th/wp-content/uploads/2024/04/2024-04-01_09-10-55_-1024-2567--a3.pdf
[14] กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ค.ศ. 2015 – 2019, (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2015) 1-40
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น